ความเป็นมาของ อพ.สธ.
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
พ.ศ. 2503 ทรงพยายามปกปักยางนา
ในฤดูร้อนเกือบทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐาน ไปประทับแรม ณ วังไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในระยะแรกเสด็จ พระราชดำเนินโดยรถไฟ ต่อมาเสด็จฯ โดยรถยนต์ เมื่อเสด็จฯ ผ่านอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี สองข้างทางมีต้นยางขนาดใหญ่ขึ้นอยู่มาก ทรงมีพระราชดำริที่จะ สงวนป่าต้นยางนี้ไว้เป็นสวนสาธารณะ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แต่ไม่ สามารถจัดถวายได้ตามพระราชประสงค์ เพราะมีราษฎรเข้ามาทำไร่ทำสวนใน บริเวณนั้นมาก จะต้องจ่ายเงินทดแทนในการหาที่ใหม่ในอัตราที่ไม่สามารถจัดได้
พ.ศ. 2504 ป่าสาธิตทดลอง
เมื่อไม่สามารถดำเนินการปกปักต้นยางนาที่อำเภอท่ายางได้ จึงทรง ทดลองปลูกต้นยางเอง โดยทรงเพาะเมล็ดยางที่เก็บจากต้นยางนาในเขตอำเภอ ท่ายาง ในกระถางบนพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล หัวหิน และทรงปลูกต้น ยางนาเหล่านั้นในแปลงทดลองใกล้พระตำหนักเรือนต้น สวนจิตรลดา พร้อมข้าราช- บริพาร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2504 จำนวน 1,250 ต้นแม้ต้นยางที่ท่ายางสูญสิ้น แต่พันธุกรรมของยางนาเหล่านั้นยังอนุรักษ์ ไว้ได้ที่สวนจิตรลดา ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพรรณไม้จากภาคต่างๆ ทั่ว ประเทศ มาปลูกในบริเวณที่ประทับ สวนจิตรลดา เพื่อให้เป็นที่ศึกษาพรรณไม้ ของนิสิตนักศึกษาแทนที่จะต้องเดินทางไปทั่วประเทศ
พ.ศ. 2528 ทรงใช้เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออนุรักษ์พืช
ในวันพืชมงคล วันที่ 9 พฤษภาคม 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราช ดำเนินไปทรงเปิดอาคารห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชที่โครงการส่วน พระองค์ฯ สวนจิตรลดา และทรงมีพระราชกระแสให้อนุรักษ์ต้นขนุนหลังพระตำหนัก ไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง ความสำเร็จของการใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชขยายพันธุ์ขนุนไพศาล ทักษิณ นำไปสู่การขยายพันธุ์ต้นไม้ที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ พระราชวังต่างๆ แล้วอนุรักษ์พันธุ์ไม้อีกหลายชนิด ได้แก่พุดสวน มณฑา ยี่หุบ ที่อยู่ในพระบรมมหาราชวัง และสมอไทยในพระที่นั่งอัมพรสถานมงคล ในขณะเดียวกันก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาพันธุกรรมของพืชเอกลักษณ์ใน สภาวะปลอดเชื้อในอุณหภูมิต่ำ เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต จนทำให้เก็บรักษาเนื้อเยื่อขนุนที่อุณหภูมิ –196 องศาเซลเซียส ในไนโตรเจนเหลว มีเนื้อเยื่อขนุนที่รอดชีวิตอยู่ได้ 23 เปอร์เซ็นต์
พ.ศ. 2529 ทรงให้อนุรักษ์พันธุกรรมหวาย
ทรงมีพระราชดำริให้อนุรักษ์และขยายพันธุ์หวายชนิดต่างๆ โดยการ เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อเตรียมการแก้ปัญหาการขาดแคลนหวายในอนาคต หวายที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและเป็นเป้าหมาย คือหวายข้อดำ หวายน้ำผึ้ง หวายตะค้าทอง หวายหอม หวายแดง หวายโป่ง หวายกำพวน หวายงวย และหวายขี้เสี้ยน เมื่อขยายพันธุ์ได้ต้นที่สมบูรณ์ของหวายข้อดำและหวาย ตะค้าทองแล้ว ก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทำการทดลองปลูกต้นหวาย เหล่านั้นในป่ายางนาใกล้พระตำหนักเรือนต้น สวนจิตรลดา และมีพระราชดำริให้ ทดลองปลูกที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ศึกษา การพัฒนาภูพานฯ จังหวัดสกลนครอีกด้วย การดำเนินการเกี่ยวกับหวายได้มีการขยายผลไปสู่ความร่วมมือระหว่างโครงการ ส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา สำนักพระราชวัง กับส่วนราชการจังหวัดตรัง จัดทำแปลงขยายพันธุ์หวายขึ้นในพื้นที่ 1,000 ไร่ ที่ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เมื่อปี พ.ศ. 2532 และได้น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นสวนเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานที่อนุรักษ์พันธุ์หวายชนิด ต่างๆ ของประเทศไทยแล้วยังได้ใช้เป็นสถานศึกษาวิจัยและขยายพันธุ์หวาย เศรษฐกิจเพื่อให้ผลประโยชน์ถึงประชาชนอย่างกว้างขวางด้วย
พ.ศ. 2529 สวนพืชสมุนไพร
ในปี พ.ศ. 2529 นอกจากมีพระราชดำริให้มีการอนุรักษ์พันธุ์หวายแล้ว ยังได้จัดทำสวนพืชสมุนไพรขึ้นใ โครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา เพื่อรวบรวม พืชสมุนไพรมาปลูกเป็นแปลงสาธิต และรวบรวมข้อมูลสรรพคุณ ตลอดจนการนำไป ใช้ประโยชน์กับทั้งให้มีการศึกษาการขยายพันธุ์พืชสมุนไพร โดยการเพาะเลี้ยง เนื้อเยื่อ และเผยแพร่ความรู้ที่ได้สู่ประชาชน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสืบต่องานอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
มิถุนายน ๒๕๓๕ พระราชทานให้กับ เลขาธิการพระราชวัง
เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริกับนายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังและผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา ให้อนุรักษ์พืชพรรณของประเทศและดำเนินการเป็นธนาคารพืชพรรณ
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้เริ่มดำเนินการ โดยฝ่ายวิชาการโครงการส่วนพระองค์ฯ สำหรับงบประมาณดำเนินงานนั้นสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้สนับสนุนให้กับโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ โดยจัดสร้างธนาคารพืชพรรณขึ้นในปี ๒๕๓๖ สำหรับเก็บรักษาพันธุกรรมพืชที่เป็นเมล็ดและเนื้อเยื่อ และสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานทุกกิจกรรมของโครงการ พ.ศ ๒๕๓๖ จนถึงปัจจุบัน
ทรงมีพระราชปรารภพระราชดำริ และพระราชทานแนวทางการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชกับนายพิศิษฐ์ วรอุไร และนายพรชัย จุฑามาศ ในพระราชวโรกาสต่างๆ สรุปดังนี้
วันที่ ๘ กุมภาพันธุ์ ๒๕๓๖ ณ อาคารที่ประทับ ในสำนักงานชลประทาน เขต ๑ ถนนทุ่งโฮเต็ล จังหวัดเชียงใหม่
- ทรงมีพระราชปรารภถึงการเสด็จพระราชดำเนินผ่านไปทางจังหวัดนนทบุรี ทรงเห็นมีพันธุ์ไม้เก่าๆ อยู่มาก เช่น ทุเรียนบางพันธุ์อาจยังคงมีลักษณะดีอยู่แต่สวนเหล่านี้จะเปลี่ยนสภาพไปจึงทรงห่วงว่าพันธุ์ไม้เหล่านั้นจะหมดไป
- พระราชทานแนวทางการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ควรอนุรักษ์พันธุ์ที่ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจไว้ด้วย
- ตามเกาะต่างๆ มีพืชพรรณอยู่มาก แต่ยังไม่มีผู้สนใจเท่าไร จึงน่าจะมีการสำรวจพืชพรรณตามเกาะด้วย
- พระราชทานแนวทางการสอนและอบรมให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ควรใช้วิธีการปลูก ฝังให้เด็กเห็นความงดงาม ความน่าสนใจของพืชพรรณ และเกิดความปิติที่จะทำการศึกษาและอนุรักษ์พืชพรรณต่อไป การใช้วิธีการสอนการอบรมที่ให้เกิดความรู้สึกกลัวว่าหากไม่อนุรักษ์แล้วจะเกิดผลเสียเกิด อันตรายแก่ตนเอง จะทำให้เด็กเกิดความเครียด ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อประเทศในระยะยาว
- ทรงมีพระราชดำริให้ทำศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช โดยมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถแสดงลักษณะของพืชออกมาเป็นภาพสีได้ เพื่อสะดวกในการอ้างอิงค้นคว้า
วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๘ ณ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตาก จังหวัดตาก
- การนำต้นไม้มาปลูกเพิ่มเติมให้เด็กรู้จักนั้น ต้องไม่มีพืชเสพติด
- ควรให้เด็กหัดเขียนตำรา จากสิ่งที่เรียนรู้จากสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
- ควรนำตัวอย่าง ดิน หิน แร่ มาแสดงไว้ในห้องพิพิธภัณฑ์พืชด้วย เพราะในจังหวัดตากมีหินแร่อยู่มากชนิด
วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๓๙ ณ เขาเสวยกะปิ ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ อำเภอ ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
- ทรงให้อนุรักษ์ต้นหว้าใหญ่ในบริเวณวังไกลกังวล หัวหิน ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นต้นหว้าที่ขึ้นอยู่ที่นั่นก่อนก่อสร้างวัง
- ทรงให้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ดำเนินการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชที่เกาะละวะ จังหวัดพังงา
- ทรงให้ทำการสำรวจขึ้นทะเบียนรหัสต้นพืชที่ขึ้นอยู่เดิม ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- ทรงให้วัดพิกัดตำแหน่งของต้นพืชที่ขึ้นทะเบียนไว้
- ทรงให้รวบรวมพันธุกรรมหวายชนิดต่างๆ
- ทรงให้มีการปลูกรักษาพันธุกรรมพืชไว้ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร
- ทรงให้หาวิธีดำเนินการให้มีข้อมูลที่จะได้รู้ว่าใครทำอะไรเกี่ยวกับพันธุกรรมพืชของหน่วยงานต่างๆให้สื่อถึงกันในระบบเดียวกันได้
- ทรงให้หาวิธีการที่จะทำให้เด็กสนใจในพืชพรรณต่างๆ และเกิดความสงสัยตั้งคำถามตนเองเกี่ยวกับพืชพรรณที่ตนสนใจนั้นซึ่งจะนำไปสู่การศึกษาทดลองค้นคว้าวิจัยอย่างง่ายๆ ที่โรงเรียนที่ไม่มีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ดีนัก ก็สามารถดำเนินการได้ หากอาจารย์ในโรงเรียนต่างๆ ทำได้ดังนี้ ก็จะช่วยให้เด็กเป็นคนฉลาด
พระราโชวาทวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๐ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร
"ข้าพเจ้ายินดีและขอบคุณทุกคนที่เข้ามาประชุมกันพร้อมหน้าในวันนี้ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ นี้ได้ดำเนินการมาเป็นเวลาถึง ๕ ปี แล้วและคิดกันว่าจะทำต่อในช่วงที่สองอีก ๕ ปี และคิดมาใหม่ว่าในขั้นที่สองนี้จะทำในลักษณะไหน ที่จริงในเบื้องต้นนั้นข้าพเจ้าก็มิได้เป็นนักพฤกษศาสตร์หรือศึกษาทางนี้มาโดยตรง ถึงแม้ศึกษาตอนนี้ก็คงจะสายไปเสียแล้ว เพราะว่าขณะนี้ไม่สามารถจำชื่อคนสัตว์ สิ่งของได้มากเท่าที่ควร แต่ว่าเหตุที่สนใจพืชพรรณและทรัพยากรของประเทศเรามานานแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางพืช เหตุผลที่ศึกษา เพราะถือว่าง่ายต่อการศึกษามากกว่าอย่างอื่น เวลาไปไหนทีมีคนตามกันเยอะแยะ ถ้าจะศึกษาสัตว์สัตว์ก็วิ่งหนีหมด แต่พืชนั้นเขาอยู่ให้ศึกษาได้ พอศึกษาไปสักพักก็เกิดความสนใจว่า นอกจากทางกรมป่าไม้ซึ่งได้ติดต่อกันในครั้งแรกในเบื้องต้นเพราะว่าชอบไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆ ตามป่าเขาดูว่าเมืองไทยมีสภาพภูมิประเทศ ภูมิศาสตร์อย่างไรและก็ได้ศึกษาเรื่องต้นไม้ต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ก็ยังเห็นว่ามีหน่วยงานทั้งหน่วยงานของรัฐของเอกชน ทั้งเป็นหน่วยงานราชการ เช่น กรมป่าไม้ กรมวิชาการเกษตร และกับทั้งที่เป็นสถาบันการศึกษาที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องของพืชศึกษาว่าพืชกี่ชนิดทั้งเรื่องของพืชชนิดต่างๆ เรื่องงานอนุกรมวิธาน อย่างนี้เป็นต้น ก็ศึกษากันหลายแห่งจึงเกิดความคิดขึ้นมาว่าน่าจะมีการการรวบรวมว่าแต่ละสถาบันได้ทำงานในส่วนของตนอย่างไร และงานนั้นอย่างเช่น ยกตัวอย่างเช่นพืช ก็ได้ศึกษาในส่วนที่แต่ละแห่งได้รวบรวมนั้น ชื่อต่างหรือซ้ำกันอย่างไร เพื่อที่จะให้รวมกันว่าทั้งประเทศนั้นเรามีอะไรบ้าง ที่จริงแล้วงานที่จะศึกษาพืชหลายชนิดนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยากและทำได้ช้า คนๆ เดียวหรือว่าสถาบันๆ เดียวนั้นจะครอบคลุมไม่ได้ทั้งหมดถ้ามีหลายๆ หน่วยงานช่วยกันครอบคลุมก็อาจจะได้มาก ถ้าต่างคนต่างไม่รู้กันนั้นก็อาจจะเกิดเป็นที่น่าเสียดายว่าจะไม่ได้ข้อมูลเต็มที่ จึงนึกถึงว่าอยากจะทำฐานข้อมูลที่นักวิชาการทุกคนจะใช้ในการค้นคว้าได้ด้วยกัน ที่วังนี้ซึ่งก็มีความรู้สึกว่า ๑ ตารางกิโลเมตรของวังนี้ก็ใหญ่โตพอสมควร แต่ว่าที่จริงแล้วถ้าจะเอางานทุกสิ่งทุกอย่างมาสุมกัน ก็ย่อมจะไม่พอพื้นที่ไม่ได้ก็ต้องทำงานอะไรที่จะประหยัดที่ที่สุดในตอนนั้นก็เลยคิดว่าทำฐานข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้การเรียกชื่อพืชที่ทุกคนจะเข้าถึงได้จึงพัฒนาจากจุดนั้นมาเป็นงานต่างๆ ที่ ดร.พิศิษฐ์ ได้กล่าวถึงเมื่อสักครู่นี้ออกไปหลายๆ อย่าง ซึ่งงานที่กล่าวถึงนี้ก็เป็นงานที่หน่วยราชการต่างๆ ได้ทำมาแล้วเป็นจำนวนมากและหลังจากโครงการฯ นี้ก็มีการตั้งขึ้นใหม่ เพราะฉะนั้นก็ยังคิดว่าถ้ามีการได้ประชุมกันพร้อมกันอย่างนี้ จะได้มาตกลงกันแน่นอนว่าใครทำอะไรและในส่วนที่เหลือกัน ถ้าซ้ำกันโดยไม่จำเป็นก็อาจจะตกลงกันได้ว่าแบ่งกันว่าอันนี้งานนี้ใครจะทำ หรืองานที่โครงการทางด้านสำนักพระราชวังเคยทำอยู่ แต่ว่าเมื่อมีหน่วยงานที่มีชื่อของหน่วยงานที่ควรจะรับผิดชอบโดยตรงรับไปทำแล้วทางสำนักพระราชวังก็คิดว่าน่าจะตัดได้ในส่วนนั้นและก็หันมาทำงานทางด้านการประสานงานหรือความร่วมมืออย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเข้าใจว่าก็เป็นการสมสมัยในปัจจุบันซึ่งประเทศค่อนข้างจะฝืดเคือง เพราะฉะนั้นทำงานอะไรถึงแม้จะเป็นงานที่ดีถ้าตกลงกันได้แล้วก็จะเป็นการประหยัดพลังคนหรือพลังเงินงบประมาณ ที่ว่าให้ในส่วนนี้แล้วก็จะได้จำเป็นจะไม่ต้องให้ในหน่วยงานอื่น หรือถ้าให้หน่วยงานอื่นก็ต้องให้ทำไป และงานนี้เราอาจจะต้องมานั่งพิจารณาคิดดูว่าจะทำงานได้โดยประหยัดอย่างไร บางส่วนที่อาจจะยังไม่จำเป็นในขั้นนี้หรือว่าทำได้ไม่ต้องเน้นเรื่องความหรูหราหรือความสวยงามมากนัก เอาเฉพาะที่ใช้จริงๆ และก็ประหยัดไปได้เป็นบางส่วนก็ดี
ส่วนสำหรับเรื่องของโรงเรียนนั้น ก็ได้มีประสบการณ์ในการที่ไปเยี่ยมโรงเรียนในภาคต่างๆ มาหลายแห่ง ก็เห็นว่าเรื่องที่จะสอนให้นักเรียนหรือให้เด็กมีความรู้ และมีความรักในทรัพยากร คือ ความรักชาติรักแผ่นดินนี้ ก็คือรักสิ่งที่เป็นสมบัติของตัวเขาการที่จะให้เขารักษาประเทศชาติ หรือรักษาสมบัติของเขานั้น ทำได้โดยก่อให้เกิดความรัก ความเข้าใจ ถ้าใครไม่รู้จักกันเราก็ไม่มีความสัมพันธ์ ไม่มีความผูกพันธ์ต่อกัน แต่ว่าถ้าให้เขารู้จักว่าสิ่งนั้นคืออะไร หรือว่าทำงานก็จะรู้สึกชื่นชม และรักหวงแหนในสิ่งนั้นว่าเป็นของตน และจะทำให้เกิดประโยชน์ได้ เคยได้แนะนำโรงเรียนต่างๆ ที่ได้ไปเยี่ยม ไม่เฉพาะแต่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการๆ นี้ โรงเรียนทั่วๆ ไปด้วยว่าเรื่องของนอกจากพืชพรรณแล้ว สิ่งที่มีในธรรมชาติ สิ่งที่หาได้ง่ายๆ นั้นก็อาจจะเป็นอุปกรณ์การสอนในวิชาต่างๆ ได้หลายอย่างแม้แต่วิชาศิลปะก็ให้มาวาดรูปต้นไม้ ก็ไม่ต้องหาของอื่นให้เป็นตัวแบบ หรือในเรื่องภาษาไทยการเรียงความก็อาจจะทำให้เรื่องของการเขียนรายงาน ทำให้หัดเขียนหนังสือ หรืออาจแต่งคำประพันธ์ในเรื่องของพืชเหล่านี้ หรือเป็นตัวอย่างงานศึกษางานวิทยาศาสตร์และวิชาอื่นๆ ดังที่ ดร.พิศิษฐ์ ได้กล่าวมา นอกจากนั้นในวิชาพฤกษศาสตร์โดยเฉพาะ ซึ่งอาจจะช่วยได้ในที่นี้ยังไม่เคยกล่าว คือเรื่องของวิชาการท้องถิ่นซึ่งก็เป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้วที่ว่าจะให้นักเรียนได้ศึกษาความรู้ท้องถิ่นนอกจากความรู้ที่เป็นมาตรฐานจากส่วนกลางมาแล้ว แม้แต่ตำราก็มีการส่งเสริมให้ครู อาจารย์ ในท้องถิ่นนั้นได้รวบรวมความรู้หรือได้แต่งขึ้นในระยะนี้ ซึ่งเท่าที่ได้เห็นมาก็มีการศึกษาวิชาการทางด้านศิลปะวัฒนธรรม อาชีพท้องถิ่นมาบ้าง แต่ในด้านของธรรมชาตินั้นยังมีค่อนข้างน้อย เท่าที่ไปแนะนำมาในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรนั้นได้เสนอว่าไม่ใช่เป็นเฉพาะที่ว่าจะให้เด็กนักเรียนปลูกป่าหรือว่าให้อนุรักษ์ดินปลูกหญ้าแฝกอย่างเดียว ก็พยายามจะให้ออกไปดูข้างๆ โรงเรียนว่าที่นั่นมีอะไรอยู่ และต้นไม้นั้นชื่ออะไร เป็นอะไร และพอดีมีประสบการณ์จากการที่ได้เคยออกไปส่งเสริมในเรื่องของโภชนาการงานในระยะแรกๆ ที่เริ่มทำงานเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ ในช่วงนั้นออกไปทำงานก็ทำงานอย่างค่อนข้างจะเบี้ยน้อยหอยน้อย คือเงินไม่ค่อยมีต้องออกเอง ก็ไม่มีเงินที่จะส่งเสริมเรื่องเมล็ดพันธุ์ผักหรืออุปกรณ์ที่ใช้มากนัก ได้ครบทุกแห่งที่ไปก็ให้ใช้พืชผักในท้องถิ่นที่พอจะมีอยู่ ผักพื้นบ้านผักพื้นเมืองหรือของที่เขากินอยู่แล้วเสริมเข้าไปในมื้ออาหารนั้นด้วย เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษาเพราะได้พบว่ามีพืชพรรณหลายอย่าง ซึ่งก็ยังไม่เป็นที่รู้จักกันในส่วนกลาง ในท้องถิ่นนั้นเขาก็รู้และก็มีชื่อพื้นเมือง แต่ว่าพอเอาเข้าจริง แม้แต่ชื่อวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่มีใครแน่ใจว่าชื่ออะไร ก็นำมาศึกษา และเวลานี้ก็ได้เห็นว่ามีการศึกษาอย่างกว้างขวาง คือได้ศึกษาว่าคุณค่าทางอาหารของผักพื้นเมืองเหล่านั้นมีอะไรบ้าง และได้มีการวิเคราะห์พิษภัยของพืชเหล่านั้นไว้ด้วยเดิมเท่าที่คิดก็ยอมรับว่าไม่ได้คิดเรื่องพิษภัย เพราะเห็นว่าคนรับประทานกันอยู่ประจำยังมีอายุยืนอยู่ แต่เห็นว่าจากการวิจัยของนักวิชาการ ก็ได้ทราบว่ามีพืชพื้นบ้านบางอย่างที่รับประทานกันอยู่ซึ่งมีพิษบ้าง ทำให้เป็นข้อคิดที่ว่าถ้าบริโภคกันในส่วนที่เป็นท้องถิ่นก็อาจจะไม่เป็นพิษภัยมากเพราะว่าในวันนั้นเก็บผักชนิดนี้ได้ก็นำมาบริโภคอีกวันก็เก็บได้อีกอย่างก็นำมาบริโภค แต่ถ้าสมมุติว่าเป็นการส่งเสริมเป็นโครงการขึ้นมา แล้วก็จะมีการขยายพันธุ์เป็นจำนวนมาก และก็รับประทานอย่างนี้ซ้ำๆ ซากๆ ซึ่งจะมีอันตรายต่อร่างกายเป็นอย่างยิ่งก็อาจจะเป็นได้ อันนี้ที่ยกตัวอย่างแสดงว่าวิชาการนี้แตกแขนงไปหลายอย่าง และมีการศึกษาได้หลายอย่าง และก็มีบุคคลหลายคนที่ช่วยกันคิดช่วยกันทำถ้าจะช่วยกันจริงๆ นี้ก็อาจจะต้องแบ่งหน้าที่ถึงขั้นตอนนี้ก็คงต้องแบ่งหน้าที่กันเพื่อที่จะแบ่งในด้านปริมาณงานที่ทำหรืองบประมาณที่ทำก็ได้รับการสั่งสอนจากผู้หลักผู้ใหญ่อยู่เสมอว่าถ้าคนเรามีความคิดพุ่งแล่นอะไรต่างๆ นานา ก็คิดได้แต่ถึงตอนทำจริงมีขั้นตอนเหมือนกัน การใช้คนให้ทำอะไรนี่ก็ต้องคิดถึงกระบวนการว่าจะไปถึงเป้าหมายที่เราต้องการนั้นจะต้องใช้ทั้งเงินใช้ทั้งเวลา ใช้ทั้งความคิด ความอ่านต่างๆ ซึ่งจะไปใช้ใครทำก็ต้องเอาให้แน่ว่าเขาเต็มใจหรืออาจเต็มใจ แต่ว่ามีภาระกิจมาก มีเวลาจะทำให้เท่าใดหรือเขาอาจทำให้ด้วยความเกรงใจเราแล้วว่าทีหลังอย่างนี้เป็นต้น ก็บอกว่าไม่เป็นไร เพราะว่าเวลาทำอะไรก็มิได้บังคับก็ขอเชิญเข้าร่วมช่วยกัน แต่ถ้าคนใดมีข้อขัดข้องหรือมีข้อสงสัยประการใดก็ไถ่ถามกันได้ ไม่ต้องเกรงใจเพราะถือว่าทำงานวิชาการ แบบนี้ไม่เคยจะคิดว่าโกรธเคืองถ้าใครทำไม่ได้ก็แล้วไป ก็ทำอย่างอื่น ทำอย่างนี้ไม่ได้ก็ต้องทำได้สักอย่าง คิดว่าโครงการนี้ขั้นตอนต่อไปอาจจะต้องดูเรื่องเหล่านี้ให้ละเอียดยิ่งขึ้น ใครทำอะไรได้และประโยชน์ อาจจะมีอีกหลายอย่างเช่น งานบางอย่าง หรืออย่างพืชนี้จะมีประโยชน์ในเชิงธุรกิจได้อีกก็มีด้วยซ้ำถ้าเราทราบสรรพคุณของเขาและนำมาใช้ในส่วนที่ว่าถ้าขยายพันธุ์แล้วไม่อันตราย คือการขยายพันธุ์เหล่านี้ก็อาจจะเป็นการช่วยในเรื่องของการส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรเพิ่มขึ้นอีกก็อาจเป็นได้ ทั้งนี้ก็ต้องไม่ละเลยในเรื่องของวิชาการสิ่งที่ถูกต้อง อะไรที่เป็นคุณ อะไรที่เป็นโทษ และยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องในเรื่องของงานของเงิน ในที่นี้ยังมีเรื่องเพิ่มอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของที่ดิน อาจจะต้องมีการกำหนดแน่นอนว่าที่ดินนั้น อยู่ในสภาพไหน สภาพการถือครองในลักษณะไหน ศึกษาในเรื่องของกฎหมายให้ถูกต้องว่าใครมีสิทธิหรือหน้าที่ทำอะไรบ้างใครทำอะไรได้ ใครทำอะไรไม่ได้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาเป็นเรื่องที่จะต้องจุกจิกมากอีกหลายอย่าง ที่พูดนี้มิได้หมายความถึงว่าจะเป็นการจะจับผิดว่าใครทำผิดใครทำถูก แต่ว่างานในโลกปัจจุบันนี้ ทำอะไรก็รู้สึกว่าเรื่องการรักษามาตรฐานนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่าต่อไปงานนี้ของเราอาจจะไม่ใช่จำกัดอยู่แต่ภายในประเทศอาจจะต้องมีการติดต่อไปถึงประเทศอื่นด้วยเป็นการสร้างความเจริญให้แก่ประเทศ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการทำงานในลักษณะที่คนอื่นยอมรับได้ นี่ก็เป็นความคิดเกี่ยวกับเรื่องโครงการนี้"
พระราโชวาท วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๓ ในการประชุม สวนพฤกษศษสตร์โรงเรียน ณ อาคารสารนิเทศ ๕๐ ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พระราโชวาท วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๔ ในการประชุมวิชาการนิทรรศการ ทรัพยากรไทย : อนุรักษ์และพัฒนาด้วยจิตสำนึกแห่งนักวิจัยไทย ณ ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย